จานรับ TV ดาวเทียม C Band และ Ku Band แตกต่างกันอย่างไร
ในขณะที่กำลังมีการขยายตัวและได้รับความนิยมอย่างมากในการดู TV ระบบดิจิตอล โดยเฉพาะทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งมีผู้ให้บริการหลายรายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากสีจานเช่น แดง ส้ม เหลือง ดำ ฯลฯ ทั้งแบบฟรีทีวีและแบบมีค่าบริการ เรามาทำความรู้จักกับทีวีดาวเทียมด้านจานรับกันหน่อย
เสาอากาศหรือจานรับทีวีจากสัญญาณจากดาวเทียม ที่ใช้งานทั่วไปมีอยู่ 2 ระบบคือ ระบบ C Band และ ระบบ Ku Band (Kurtz-under band)
จานรับ C Band
ลักษณะทั่วไปของทั้ง 2 ระบบ
1. ความเข้มของสัญญาณ C Band ที่ส่งลงมาจากดาวเทียม ความเข้มจะน้อยกว่า Ku Band
2. พื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณ ( Beam Coverage Area) ระบบ C Band จะครอบคลุมพื้นที่รับสัญญาณได้กว้างกว่าทั้งแบบ Regional และ Global แต่ระบบ Ku Band จะครอบคลุมพื้นที่เฉพาะที่เล็กกว่า ทั้งแบบ Spot Beam และ Steerable Beam ในทางเทคนิคจึงส่งสัญญาณ C Band ให้มีความเข้มของสัญญาณน้อยกว่า Ku Band เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกัน
3. ขนาดของจานรับสัญญาณ C Band จะเป็นตะแกรงโปร่ง หรือทึบก็ได้ รูปพาราโบลิค เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8-3.5 เมตร ส่วน Ku Band จะเป็นจานทึบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.35 - 1.80 เมตร และจากการที่ความเข้มของสัญญาณที่แรงกว่า จึงทำให้ระบบ Ku Band สามารถใช้ใบจานขนาดเล็กกว่า C Band ได้ 2-3 เท่า
4. ลักษณะของแผ่นสะท้อนของจานรับ ระบบ Ku Band จะเป็นโลหะแผ่นเรียบจะเป็นอลูมีเนียม หรือ เหล็กชุบสี ในขณะที่ C Band ส่วนใหญ่จะเป็นตะแกรงปั้มเป็นรูเล็กๆ และสามารถใช้จานแบบ C Band รับสัญญาณระบบ Ku Band ได้ แต่ไม่สามารถนำจาน Ku Band มารับสัญญาณ C Band ได้
5. หัวรับสัญญาณ ทางเทคนิคเรียกว่า LNBF (Low Noise Block Down Frequency) เป็นกระเปาะ อยู่บริเวณจุดรับคลื่นสะท้อนมารวมกันบนจานรับ เป็นตัวแปลงสัญญาณความถี่สูงให้เป็นความถี่ต่ำลง ให้เหมาะสมกับภาครับของเครื่องรับ สัญญาณ (Receiver) ซึ่งระบบ C Band จะรองรับความถี่ 4-8 GHz (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) ส่วน Ku Band รองรับความถี่ 12-18GHz จึงใช้ LNBF แทนกันไม่ได้ แต่บางยี่ห้อทำแบบ 2 ระบบบรรจุไว้ในตัวเดียวกัน
6. เครื่องรับสัญญาณ (Receiver) โดยปรกติใช้ร่วมกันได้ แต่เครื่องรับบางชนิดรับได้เฉพาะระบบ เช่นที่สั่งผลิต เช่นของ UBC จึงไม่สามรถนำมาใช้ทั่วไปได้ เครื่องรับสัญญาณทั่วไปสามารถรับสัญญาณได้ทั้ง 2 ระบบ โดยต้องตั้งค่า LNBF ให้ถูกต้อง
และระบบ Ku Band เป็นระบบที่ส่งสัญญาณด้วยความถี่สูงกว่า ซึ่งจะมีปัญหาการรับสัญญาณได้ไม่ดี หรือรับไม่ได้ในขณะที่เมฆหนา ฝนตกหนักหรือหิมะ แต่ระบบ C Band จะไม่ค่อยมีปัญหานี้