DTMB ย่อมาจาก Digital Terrestrial Multimedia Broadcast เป็นระบบที่ประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานเอง ปัจจุบันชื่อระบบที่เป็นทางการ คือ DTMB เปลี่ยนจากเดิมใช้ชื่อว่า DMB-T/H ซึ่งย่อมาจาก Digital Multimedia Broadcast - Terrestrial / Handheld ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นโทรทัศน์ดิจิทัลให้บริการภาคพื้นดินทั้งแบบรับอยู่กับที่ตามบ้านเรือนและแบบมือถือที่เคลื่อนที่ได้
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศระบบ โทรทัศน์ดิจิทัล ของตัวเอง เมื่อประมาณเดือน สิงหาคม 2549 เรียกว่า GB 20600-2006 อักษร GB มาจากภาษาจีน guo biao หมายถึงมาตรฐานแห่งชาติ ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน DTMB ประกอบด้วย 2 มาตรฐาน ๆ ที่เหมือนกับ DVB-T/ ISBD-T คือมาตรฐาน DMB-T พัฒนาโดย Tsinghua University กรุงปักกิ่ง อาศัยใช้เทคโนโลยี OFDM แบบหลายคลื่นพาห์ (Multiple Carrier) และอีกมาตรฐานที่เหมือนกับระบบ ATSC พัฒนาโดย Jiaotong University เมืองเซี่ยงไฮ้ คือมาตรฐาน ADBT-T (Advanced Digital Broadcasting–Terrestrial) ส่งสัญญาณด้วย Single Carrier แบบ 8 VSB เนื่องจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ได้เลือกระบบใดระบบหนึ่งเป็นมาตรฐานเพียงระบบเดียว คือ DTMB โดยเชื่อมรวมทั้ง 2 มาตรฐานเข้าด้วยกัน มีผลให้ Set Top Box หรือเครื่องรับ ต้องสามารถรับสัญญาณและถอดรหัสสัญญาณได้ ทั้ง 2 มาตรฐาน DTMB ได้เริ่มให้บริการในฮ่องกงและมาเก๊า วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ทั้งแบบ SDTV และ HDTV ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มให้บริการตั้งแต่การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิค 2008 ในแบบ HDTVมาตรฐาน DTMB ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการแก้ไขความผิดพลาดแบบไปข้างหน้า (FEC) คือใช้รหัสชั้นใน (Inner Coding) เป็นรหัส LDPC (Low Density Parity Check) และรหัสชั้นนอก (Outer Coding) ใช้รหัสแบบ BCH (Bose, Ray-Chaudhuri, Hocquenghem) แบบเดียวกับ DVB-S2 มีผลให้ระบบต้องการค่า C/N น้อยกว่า และสามารถใช้ได้กับทั้งโหมด Multiple Carrier และโหมด Single Carrier ที่มีส่วนหน้าสุดของเฟรมข้อมูล (Frame Header) ที่แข็งแรงด้วย PN (pseudorandom noise) ส่วนโหมด Multiple ใช้เทคนิค TDS-OFDM (time-domain synchronous OFDM ) ซึ่งโดยทั่วไปรหัส คอนโวลูชัน (Convolution) จะถูกแทรกระหว่างเฟรมสัญญาณ OFDM บน Frequency Domain ใน Frame Body : FB ที่มีความยาวรวม 3780 Symbol โดยที่โครงสร้างของเฟรมตามมาตรฐาน DTMB เป็นแบบลำดับชั้น ตามรูปที่ 9 ช่วงเวลาของเฟรมวันตามปฏิทิน และเฟรมนาที แต่ละวันมี 1440 เฟรมนาที ในเฟรมนาที มี 480 Super Frame ขนาด 125 ms และเฟรมสัญญาณ (Signal Frame) ตามลำดับแต่ละเฟรมสัญญาณ ประกอบด้วย Frame Header : FH และ Frame Body : FB สัญญาณ Base Band จะมี Symbol Rate เท่ากันทั้ง FH และ FB คือ 7.56 Msps ช่วง FH จะส่งสัญญาณ PN(pseudorandom noise) เรียงกัน PN มี 3 ขนาด คือ 420, 595 และ 945 Symbols ตามลำดับเพื่อรองรับบริการที่ต่างกัน เทคโนโลยีการแทรก PN ในแถบเวลานี้ จึงเรียกว่า Time Domain OFDM (TDS-OFDM)
โครงสร้างของเฟรม DTMB
ช่วง Frame Header ดังกล่าวก็คือช่วงป้องกัน (Guard Interval) ซึ่งตามมาตรฐาน DVB-T/ ISBD-T จะมีวิธีปฏิบัติใน Frequency Domain เครื่องรับต้องใช้เวลาถึง 100ms ในการถอดรหัส ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเครื่องรับที่กำลังเคลื่อนที่ ระบบ DTMB จึงเติมช่วงป้องกันด้วย PN ใน Time Domain ที่เครื่องรับใช้เวลาเพียง 5ms ในการถอดรหัส ส่วนในช่วง Frame Body มีวิธีปฏิบัติใน Frequency Domain เช่นเดียวกับมาตรฐาน COFDM อื่นๆ การส่งสัญญาณแบบ TDS-OFDM จึงผสมกันทั้งวิธีปฏิบัติใน ทางเวลา และทางความถี่ การใช้เวลาเพียง 5ms ในการถอดรหัส จึงเหมาะสำหรับการรับสัญญาณระหว่างกำลังเคลื่อนที่ความเร็วสูง
แม้ว่า DTMB จะรองรับการมอดูเลต ตั้งแต่ 4QAM – 64QAM ก็ตาม แต่ 4QAM จะแข็งแกร่งที่สุด จึงถูกใช้ในการส่ง PN (pseudorandom noise) ในช่วง Frame Header : FH บน Time Domain ส่วนในช่วง Frame Body : FB สามารถเลือกใช้การมอดูเลต ได้หลายวิธี ทั้ง 4QAM,16QAM,64QAM และ 4QAM-NR (Nordstrom-Robinson) บน Frequency Domain และสามารถเลือกอัตราบิตหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการขนาดข้อมูล คือ
- คลื่นพาห์จำนวน 4K (3,780 Carriers)
- เลือกวิธีผสมสัญญาณได้หลายแบบคือ 4QAM,16QAM,32QAM,64QAM และ 4QAM-NR
- เลือกเข้ารหัส Internal Code Rate ได้ 3 วิธีคือ 0.4,0.6, และ 0.8
- สามารถเลือกค่า PN ได้ 3 แบบคือ 420,595, และ 945 Symbolsเนื่องจากมาตรฐาน DTMB มีทั้ง 2 แบบ คือ DMB-T ในโหมด Multiple Carrier และ ADBT-T ในโหมด Single Carrier เครื่องรับทั้งแบบ STB และ iDTV จำเป็นต้องมีความสามารถถอดรหัสได้ทั้ง 2 แบบ ประกอบกับ DTMB ไม่ได้กำหนด วิธีการเข้ารหัสสัญญาณภาพ เครื่องรับ STB และ iDTV จำเป็นต้องมีความสามารถถอดรหัสได้ทั้ง MPEG-2, และ MPEG-4 AVC/H.264 เป็นผลให้ เครื่องรับ STB และ iDTV มีราคาสูงกว่ามาตรฐานอื่นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น