วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นมา: ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.



สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.( Modernine Television)
เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในนาม สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ภายในที่ทำการ บมจ.อสมท เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 หรือ TTV ( Thai Television Channel 4) นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม
ราวเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราว พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 รัฐบาลภายใต้การนำของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ( Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท., M.C.O.T.) เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ( Thai Television Channel 9) มาดำเนินการต่อ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. โดยรัฐบาลมอบทุนประเดิม จำนวน 10 ล้านบาท
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท.ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 14 ไร่ ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีปในขณะนั้น ตอบรับคำเชิญของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับบริษัท แปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ส่งผลให้คู่ผู้ประกาศข่าวที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ ดร.สมเกียรติ และนางสาวกรรณิกา ธรรมเกษร นั่นเอง
ราวปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่าแดนสนธยาเนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่นายแสงชัยก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ได้เป็นอย่างดี แต่แล้วนายแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ระหว่างนั่งรถยนต์เดินทางกลับบ้านพัก ที่เมืองทองธานีถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหารนายแสงชัย ต่อมา นางอุบลถูกลอบสังหารเสียชีวิตบนรถยนต์ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับนายแสงชัย
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์
ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการรายงานเสนอข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงทั้งหมด และเพื่อทันต่อเทคโนโลยี การสื่อสารของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเป็นการปราศจากความเป็นแดนสนธยาภายในองค์กรอีกด้วย
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นสักขีพยาน
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปดวงตาสีม่วง และปรับรูปแบบการนำเสนอเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่มข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึงประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ และเพิ่มบทบาทให้กับเครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจนการควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จากกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มีประชากรใน ขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้จัดให้มีรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ในด้านต่างๆ นำเสนอในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) เพื่อให้ผู้ชมได้รับข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน
ที่มา : สารานุกรมเสรี

1 ความคิดเห็น:

  1. ฉันไม่เคยเห็นรายการทีวีในประเทศไทยเค้าซื้อตั๋วบอลโลกกันยังไง http://xn--12c2cez4d0fm6c.com/2018/04/23/pokemon-go-fest-2017-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89-niantic-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%9b%e0%b8%a3/

    ตอบลบ